เปิดคัมภีร์ เที่ยวตุรกีด้วยตัวเอง
ฉบับ ตอบทุกคำถามที่ควรรู้ เข้าใจง่าย อ่านจบปุ๊บ จองตั๋วไปได้เลย!
The Ultimate Guide to travel Turkey
- January, 2019 -

ช่วงนี้มีคนส่ง Messenger หลังบ้านในเพจ Movearound Journey มาปรึกษาเรื่องเที่ยวตุรกีด้วยตัวเองค่อนข้างเยอะ เราเลยคิดว่า ‘ตุรกี’ น่าจะเริ่มเข้ามาเป็น Dream Destination ของใครหลายคนแล้วละ โพสต์นี้เราก็เลยตั้งใจอยากแชร์ข้อมูลและประสบการณ์ที่ได้จากการเที่ยวตุรกีด้วยตัวเอง โดยสรุปและย่อยข้อมูลมาให้อ่านกันแบบง่ายๆ ไม่ยืดยาว แต่ครบถ้วนทุกคำถามที่ควรรู้ก่อนวางแผนไปเที่ยวตุรกี ตั้งแต่ขั้นตอนการหาตั๋วเครื่องบิน งบประมาณ การเดินทาง รวมไปถึงเคล็ดลับต่างๆ ที่จะทำให้การวางแผนเที่ยวตุรกีด้วยตัวเองกลายเป็นเรื่องง่าย แบบไม่ต้องง้อทัวร์กันเลย! จะเรียกว่าเป็น มินิไกด์สำหรับการเที่ยวตุรกี ฉบับเริ่มต้นก็ได้ ส่วนใครที่อยากหารีวิวเพื่อสร้างแรงบันดาลใจก็สามารถคลิกอ่าน รีวิวตุรกี ที่เราเคยเขียนไว้ได้จากลิงก์นี้เลยจ้า > รีวิวแผนเที่ยวตุรกีทั้งหมด <
ประเทศตุรกีน่าเที่ยวจริงไหม?

ฉายาของประเทศตุรกี คือ ‘ดินแดนสองทวีป’ เพราะเป็นประเทศที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป ฉะนั้นเราจึงสัมผัสได้ทั้งบรรยากาศความเป็นเอเชียและยุโรป ส่วนตัวเราว่าเสน่ห์ของตุรกีคือภูมิประเทศที่หลากหลาย แค่เปลี่ยนเมืองก็รู้สึกเหมือนได้เที่ยวอีกประเทศแล้ว ตอนนี้ค่าเงินลีราก็ถูกลงมาก ทุกสิ่งทุกอย่างดูเป็นใจคล้ายจะบอกว่า “เฮ้ .. ถึงเวลาเที่ยวตุรกีแล้วนะ” ฉะนั้นจากประสบการณ์ส่วนตัว เรากล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำเลยว่า “ตุรกี เป็นประเทศที่น่าเที่ยวมากกก” ใครที่กำลังลังเลใจอยู่ มั่นใจได้เลยว่าไปแล้วไม่มีผิดหวังแน่นอน!
คนไทยไปตุรกีต้องขอวีซ่าหรือเปล่า?

พาสปอร์ตไทย สามารถใช้เข้าประเทศตุรกีได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ฉะนั้นคนไทยจึงไปเที่ยวตุรกีได้แบบสบายใจภายใน 30 วัน ส่วน ตม. โหดไหม? สำหรับเราเฉยๆ เพราะปั๊มให้แบบง่ายดาย ไม่ถงไม่ถามสุขภาพอะไรส๊ากคำ
ตุรกีน่ากลัวเหมือนที่เคยได้ยินมาหรือเปล่า?

หลายคนอาจยังติดภาพความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นระหว่างไทยกับตุรกี อีกทั้งตุรกียังเคยมีข่าวก่อการร้าย และมีชายแดนตั้งอยู่ติดกับประเทศอันตรายอย่างซีเรียด้วย นี่ยังไม่นับกลยุทธ์ในการหลอกนักท่องเที่ยว หรือโจรกรรมที่มีคนมาเล่าให้ฟังอีกเยอะแยะ ซึ่งเรามองว่าถ้าใครจะตั้งป้อมไว้ก่อนว่าตุรกีเป็นประเทศที่อันตรายก็ไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ เพราะมันจะทำให้เราระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไม่อยากให้ระวังมากเกินไปจนกลายเป็นหวาดระแวงแล้วจะหมดสนุก ส่วนตัวเราไปเที่ยวมา 12 วัน ยังไม่เจออะไรที่ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ทั้งที่ก่อนไปก็เตรียมตัวเยอะมากก อ่านกลโกงทุกรูปแบบที่นักท่องเที่ยวเคยเจอในตุรกี ไม่ว่าจะเป็น มุขขัดรองเท้า หรือแกล้งเข้ามาตีสนิทแล้วขโมยของ .. คนตุรกีน่ารักกว่าที่คิดนะ นิสัยคล้ายคนไทย คือ ขี้เล่น ขี้แซว แต่จริงๆ ก็ไม่มีอะไรค่า : )
มีสายการบินอะไรบ้างที่จะพาเราบินลัดฟ้าไปถึงประเทศตุรกี

ปัจจุบันมีสายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินสู่เมืองอิสตันบูลของประเทศตุรกีเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแบบที่ต้องต่อเครื่อง เพราะสายการบินที่ให้บริการแบบบินตรงมี Turkish Airlines เจ้าเดียว ส่วนราคาเฉลี่ยทั่วไปนั้น เราเคยเจอตั๋วเครื่องบินโปรโมชั่นแบบถูกสุดอยู่ที่ 13,xxx บาท เท่านั้นเอง .. อ้ะ แล้วมีสายการบินอะไรให้เลือกบ้างล่ะ? มาดูกันเลย
สายการบินที่ให้บริการแบบบินตรง
ระยะเวลา : ประมาณ 9-10 ชั่วโมง
ราคาเฉลี่ย : ประมาณ 22,xxx – 35,xxx บาท

สายการบินที่ให้บริการแบบต่อเครื่อง
ระยะเวลา : ขึ้นอยู่กับสายการบิน และระยะเวลาการต่อเครื่อง
ราคาเฉลี่ย : ประมาณ 13,xxx – 25,xxx บาท
Emirates
Etihad
Qatar Airways
Air Astana
Oman Air
Egypt Air
Royal Jordanian
Aeroflot

ปล. ส่วนตัวเรา บินกับสายการบิน Etihad แวะเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศอาบูดาบี ราคาตอนที่จิ้มได้คือ 18,xxx บาท ถือว่าโอเค รับได้ เพราะใช้เวลาในการเปลี่ยนเครื่องไม่นาน ประมาณ 3 ชั่วโมง เบาะกว้างสบาย มีหนังให้ดู มีเกมให้เล่น แอร์บริการดี แต่อาจไม่ยิ้มแย้มมากมาย ตามสไตล์ของคนยุโรปจ้า
สนามบินของประเทศตุรกีเป็นเรื่องสำคัญ อย่าจำสับสนนะ
เมืองหลวงของตุรกี คือ เมืองอังการา (Ankara) แต่อิสตันบูลกลับเป็นที่รู้จักมากกว่า ฉะนั้นเที่ยวบินส่วนใหญ่จึงลงที่เมืองอิสตันบูลเป็นหลัก โดยอิสตันบูลจะมีสนามบิน 2 แห่ง คือ สนามบินอิสตันบูล อาตาตูร์ก (IST) ซึ่งนับเป็นสนามบินหลักที่เที่ยวบินจากต่างประเทศมาลง กับอีกหนึ่งสนามบินคือ สนามบินอิสตันบูล ซาบิฮา กุคแซง (SAW) ส่วนใหญ่เป็นไฟลท์บินภายในประเทศ เปรียบเสมือนสนามบินดอนเมืองของบ้านเรา ฉะนั้นอย่าสับสนนะ ต้องดูให้ดีๆ ก่อนจองตั๋วว่าลงที่สนามบินไหน จะได้วางแผนเข้าเมืองถูก เพราะทั้งสองสนามบินนี้ตั้งอยู่คนละฝั่งกันเลยนาจา

วิธีการเข้าเมืองจากทั้งสองสนามบิน
วิธีการเดินทางเข้าเมืองนั้น อาจต้องอิงจากย่านที่พักด้วย เพราะบางย่านก็สามารถเดินทางด้วยรถไฟใต้ดินและรถราง แต่บางย่าน นั่งรถบัสจะสะดวกกว่า ทั้งนี้ย่านที่พักยอดนิยมของอิสตันบูลจะมีหลักๆ อยู่ 2 ย่าน คือ Sultan ahmet นับเป็นศูนย์รวมสถานที่ท่องเที่ยว คนส่วนใหญ่จะเลือกพักฝั่งนี้เพราะเดินทางสะดวกและมีแลนด์มาร์กของอิสตันบูลตั้งอยู่ใกล้ๆ ส่วนอีกย่าน คือ Taksim ซึ่งเป็นย่านที่เราเคยพักค่ะ เพราะสะดวกต่อการเดินทางไปสนามบินซาบิฮา (SAW) มากกว่า ด้านหลังของย่านทักซิมจะมีป้ายรถบัสซึ่งยิงตรงถึงสนามบินเลย เราก็เลยจำใจต้องพักย่านทักซิม ข้อดีคือเป็นย่านที่คึกคักตลอดคืนเลยจ้า
จาก สนามบินอิสตันบูล อาตาตูร์ก (IST) เข้าเมือง
พักย่าน Sultan ahmet : เดินออกมาด้านหน้าสนามบินแล้วตรงไปยังอาคารจอดรถ จะเจอสถานีรถไฟใต้ดิน สามารถซื้อตั๋วเป็นเที่ยว หรือซื้อ Istanbul Card (Istanbulkart) ที่เป็นบัตรเติมเงินคล้ายบัตรแรบบิทของบ้านเราก็ได้ จากนั้นนั่งรถไฟไปลงที่สถานี Zeytinburnu แล้วต่อรถรางไปลงยังสถานีตามที่พักที่จองไว้

พักย่าน Taksim : เดินออกมาด้านหน้าสนามบินจะเจอรถบัส Havabus จอดอยู่ Havabus จะวิ่งตรงไปส่งถึงย่านทักซิมเลย ราคาคนละ 14 ลีรา วิ่งตั้งแต่ 04:00 น. – 01:00 น. ออกทุกครึ่งชั่วโมง ดูตารางเวลาได้จากลิงก์นี้เลย > Click <

จาก สนามบินอิสตันบูล ซาบิฮา กุคแซง (SAW) เข้าเมือง
เนื่องจากสนามบินซาบิฮา ไม่มีสถานีรถไฟใต้ดิน ฉะนั้นจึงต้องพึ่ง Havabus ลูกเดียว รถบัสจะมาจอดส่งที่ย่านทักซิมเหมือนเดินทางจากสนามบินอาตาตูร์ก ฉะนั้นใครที่พักย่าน Sultan ahmet จึงต้องขึ้นรถบัสแล้วค่อยมาต่อรถไฟใต้ดินอีกทีเมื่อถึงทักซิมแล้ว แต่ส่วนใหญ่ถ้าบินระหว่างประเทศจะไม่ค่อยมีสายการบินไหนลงที่สนามบินนี้หรอกค่ะ เว้นเสียแต่ว่ากลับมาจากเที่ยวบินภายในประเทศ เช่น คัปปาโดเกีย หรือ ปามุกคาเล ฉะนั้นการวางแผนเรื่องสนามบินจึงสำคัญมากๆ เลย ตอนจองตั๋วเครื่องบินต่างๆ อย่าลืมวางแผนเรื่องสนามบินให้ดีๆ กันด้วยนะ

เวลาของประเทศตุรกีต่างจากประเทศไทยกี่ชั่วโมง?
เวลาของประเทศตุรกีช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง

เที่ยวตุรกีช่วงไหน ฤดูกาลไหนดี?

– ฤดูใบไม้ผลิ (เมษายน – พฤษภาคม)
– ฤดูร้อน (มิถุนายน – กันยายน)
– ฤดูใบไม้ร่วง (ตุลาคม – พฤศจิกายน)
– ฤดูหนาว (ธันวาคม – มีนาคม)
จริงๆ แล้ว ตุรกี สามารถไปเที่ยวได้ทั้งปี แต่ถ้าอยากไปเจออากาศดีๆ สบายๆ ก็แนะนำเป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิกับฤดูใบไม้ร่วง เพราะช่วงกลางวันยังไม่ร้อนมาก คนไทยอยู่ได้สบาย แต่กลางคืน บางเมืองอาจจะหนาว ฉะนั้นเตรียมเสื้อคลุมหรือแจ็คเก็ตไปด้วยก็ดี เราเองเคยไปตอนเดือนพฤษภาคม ตอนอยู่ที่คัปปาโดเกียหนาวมากก แต่พอข้ามมาเที่ยวแถวเซลจุกนี่ร้อนตับแล่บเลยจ้า อ้อ แต่ถ้าใครอยากเจอหิมะ แนะนำให้ไปช่วงฤดูหนาวนะ เพราะตุรกีก็มีหิมะตกเหมือนกันค่ะ
ตุรกีใช้เงินสกุลอะไร?

ประเทศตุรกีใช้เงินลีราเป็นหลัก แต่บางที่ก็รับ USD หรือ EUR ด้วย เช่น โรงแรม หรือทัวร์ ซึ่งเราสามารถถามเขาก่อนได้เลยว่าจะจ่ายด้วยเงินสกุลนี้ได้ไหม แต่แนะนำว่าใช้ลีราดีที่สุดค่ะ เพราะใช้ได้กับทุกที่เลย แล้วก็นับว่าเป็นโชคดีของคนไทยที่ ณ ตอนนี้ ค่าเงินลีราลดต่ำลงมากกกกก เราลองเช็คดูล่าสุดอยู่ที่ 1 ลีรา = 6 บาท เท่านั้นเอง (ตอนที่เราไปปีที่แล้ว 1 ลีรา = 8 บาท) โดยสามารถแลกเงินได้ที่ Super Rich แต่ต้องโทรไปถามก่อนนะ เพราะเงินลีราจะมีให้แลกก็ต่อเมื่อมีคนเอาเงินลีรามาขาย ฉะนั้นเขาจึงไม่มีเงินอยู่ในสต็อคตลอด ถ้า Super Rich ไม่มีก็แลกเป็น USD หรือ EUR แล้วไปแลกเป็นเงินลีราอีกทีตอนถึงตุรกีแล้วก็ได้ แนะนำว่าถ้าไม่ได้ถือลีราอยู่เลย ให้แลกที่สนามบินแค่พอนั่งรถเข้าเมืองได้ก่อน แล้วค่อยมาหาแลกในเมืองอีกที จะได้ราคาดีกว่าแลกที่สนามบินค่ะ
การเดินทางระหว่างเมือง

สถานที่ท่องเที่ยวของตุรกีส่วนใหญ่แล้วจะตั้งอยู่คนละเมือง ซึ่งระยะทางค่อนข้างไกลกันมากเลย ฉะนั้นไปตุรกีทั้งนี้เราจึงไม่สามารถเที่ยวอยู่แค่ในอิสตันบูลได้แน่นอน ต้องมีการวางแผนเปลี่ยนเมืองด้วย โดยการเดินทางระหว่างเมืองก็จะมีหลายวิธีให้เลือก ดังนี้ ..
รถไฟ
ใครที่ชอบผจญภัยจะนั่งรถไฟตู้นอนเพื่อเดินทางข้ามเมืองก็ย่อมได้ แต่เราเคยอ่านรีวิว ฝรั่งเขารีวิวเอาไว้ว่าในรถไฟมันมีป้ายเตือนนักท่องเที่ยวติดอยู่ว่าให้ระวังทรัพย์สิน บนรถไฟมีขโมย แต่ป้ายดันเขียนเป็นภาษาตุรกี อ้าวเฮ้ย! แสดงว่า ไม่มีอะไรการันตีได้ถึงความปลอดภัยระหว่างนั่งรถไฟของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเลยนี่หว่า วิธีนี้จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไร เพราะใช้เวลานานด้วย แต่ถ้าสนใจอยากหาข้อมูลเกี่ยวกับการนั่งรถไฟในตุรกี ลองอ่านเพิ่มเติมได้ในลิงก์นี้นะ > Click <

อ้อ ตุรกีมีรถไฟความเร็วสูงนะ เรียกกันว่า Yuksek Hizli Tren (YHT) สามารถนั่งไปอังการาหรือคอนย่าได้ แต่ข้อเสียก็คือสถานีรถไฟความเร็วสูงมันไม่เชื่อมต่อกับสถานีอะไรเลย แล้วการเดินทางไปสถานีรถไฟความเร็วสูง (Istanbul Pendik Station) ก็ค่อนข้างลำบาก คือต้องนั่งรถไฟไปแล้วยังต้องไปต่อแท็กซี่อีก ฉะนั้นเราจึงมองว่ามันยังไม่สะดวกเท่าที่ควรค่ะ
รถบัส
คงจะเป็นวิธีที่ใครหลายคนเลือกใช้บริการมากที่สุด เพราะได้รับความนิยมมากในตุรกี มีหลายเจ้า แล้วก็หลายเส้นทาง หลายเวลา ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องจองก่อนล่วงหน้า แค่ไปให้ถึงสถานีรถบัสก่อนเวลาที่ต้องการเดินทางเท่านั้น โดยเจ้าใหญ่ๆ ที่ได้รับความนิยมก็ได้แก่ Pamukkale, Kamilkoc และ Metro สามารถคลิก (ที่ชื่อ) เพื่อเข้าไปส่องตารางการเดินรถพร้อมราคากันก่อนได้เลยเด้อ

สายการบินภายในประเทศ
เป็นวิธีการเดินทางข้ามเมืองที่เราอยากแนะนำมากที่สุด เพราะถ้าจองล่วงหน้านานหน่อย ก็จะได้ราคาที่ดีงามทีเดียว แถมยังประหยัดเวลามากที่สุดด้วย สำหรับสายการบินภายในประเทศที่ให้บริการก็มีทั้งลูกพี่ขาใหญ่อย่าง Turkish Airlines สามารถโหลดกระเป๋าได้ 15 กิโลฯ มีของว่างและน้ำบริการ ราคาจะค่อนข้างแพงกว่าเจ้าอื่น แต่ถ้าจองล่วงหน้าก็มีโปรฯ ราคาถูกหลุดมาให้ว้าวเหมือนกัน อีกสายการบินที่ใช้บริการกันเป็นล่ำเป็นสันก็คือ Pegasus Airlines ราคาถูกกว่า Turkish แต่บางไฟลท์ถ้าจองกระชั้นก็เจอแพงกว่า Turkish เหมือนกัน แต่ถ้าจิ้มล่วงหน้านานๆ จะเจอราคาที่ชวนว้าวสุดๆ บางไฟลท์ ไป-กลับ แค่ 500 บาทก็มี สามารถโหลดกระเป๋าได้ 15 กิโลฯ เหมือนกัน แต่ไม่มีอาหารว่างให้ค่า

เช่ารถขับ
เมื่อเรานำพาตัวเองไปถึงยังต่างเมืองได้แล้วก็จะมีวิธีการเดินทางภายในเมืองนั้นๆ ที่ต่างกันไปอีก เช่น คัปปาโดเกีย ก็อาจจะต้องจอง One Day Tour ออกไปเที่ยว หรือในอิซเมียร์ก็อาศัยนั่งรถไฟหรือรถบัสเอา แต่อีกหนึ่งวิธีที่เราแนะนำเพราะสะดวกสบายและอิสระกว่าก็คือการเช่ารถขับด้วยตัวเอง ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วไม่แพงอย่างที่คิดเลย แต่ก็อาจจะต้องปรับสมองกันเล็กน้อย เพราะตุรกีขับพวงมาลัยซ้าย แต่ถนนนอกเมืองค่อนข้างโล่ง ขับง่าย และไม่อันตรายค่ะ สามารถอ่านรีวิวการเช่ารถขับเที่ยวคัปปาโดเกีย และปามุกคาเล ที่เราเคยรีวิวไว้ได้จากลิงก์ด้านล่างนี้เลย
Cappadocia นอนถ้ำ ขับรถเที่ยว แชะรูปสุดเฟี้ยวที่ “คัปปาโดเกีย” > Click <
Pamukkale ต้องมนต์ปราสาทปุยฝ้าย “ปามุคคาเล” เสน่ห์แห่งเมืองเดนิซลี > Click <

ค่าครองชีพแพงมั้ย ต้องใช้งบประมาณเท่าไร?

เอาเข้าจริง ค่าครองชีพที่ตุรกีไม่ได้แพงมากอย่างที่คิด ยิ่งค่าเงินลดฮวบลงมาจนเหลือ 1 ลีรา = 6 บาท ยิ่งทำให้คนไทยสามารถเที่ยวตุรกีได้ประหยัดกว่าเดิมอีก สำหรับค่าอาหาร ปกติแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 20 – 50 ลีรา คิดเป็นเงินไทยก็ตกประมาณ 150 – 300 บาท ต่อคน ต่อมื้อ ขึ้นอยู่กับว่าจะกินหรู หรือกินประหยัดแค่ไหน ส่วนค่าที่พักก็เริ่มต้นตั้งแต่ 1,xxx บาท/คืน ก็มี โดยส่วนตัวเราใช้งบไปทั้งหมดประมาณ 45,000 บาท/คน เดินทางทั้งหมด 12 วัน เที่ยว 6 เมือง แล้วก็เช่ารถขับด้วยอีกต่างหาก ฉะนั้นใครที่กำลังลังเลๆ ตัดสินใจอยู่ว่าจะไปเที่ยวตุรกีดีไหมนะ มั่นใจได้เลยว่าไม่ผิดหวังและคุ้มค่าแน่นวล ประเทศนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมถึงสถาปัตยกรรม และวัฒนธรรมที่หลากหลาย .. การเดินทางไม่เคยทำให้ใครขาดทุนนะ เพราะสุดท้ายแล้ว เราจะได้สิ่งที่มีค่าที่สุดกลับมาด้วยเสมอ นั่นก็คือ .. ความทรงจำ : )
