เยือนถิ่นไทลื้อ “พะเยา” ชิมเมนูเลื่องชื่อจากฝีมือเชฟชุมชน
Local Chef Journey of Phayao
- September, 2019 -
เสน่ห์ของการออกเดินทาง .. อาจไม่ใช่แค่เพียงสถานที่หรือจุดหมายปลายทาง แต่ถ้าเราลองมองให้ลึกและสัมผัสถึงทุกสิ่งรอบกาย เราอาจค้นพบว่า “แม้กระทั่ง ‘อาหาร’ ก็อาจเป็นเหตุผลสำคัญในการออกเดินทางได้เช่นกัน”

ทริปนี้เราก็เลยจะพาขึ้นเหนือไปแอ่วพะเยา จังหวัดเล็กๆ ที่บรรยากาศอบอุ่นมากกก ซึ่งการเดินทางไปพะเยา ของเราในครั้งนี้ ไม่ใช่เพราะอยากไปเที่ยวกว๊าน หรือไปนอนดูหมอกตอนเช้าที่ภูลังกา แต่เราจะพาไปเยือนหมู่บ้านไทลื้อ อำเภอเชียงคำ อยากให้เธอลองไปสัมผัสวัฒนธรรมของชนเผ่าเก่าแก่ที่น่าฮักคาวาอิกว่าที่คิด พร้อมชิมเมนูเลื่องชื่อจากเชฟชุมชนอย่าง ‘แอ่งแถะ’ ซึ่งปัจจุบันหากินได้ยากแท้ และไม่สามารถลิ้มรสความอร่อยนี้ที่ไหนได้อีกแล้ว นอกจากที่นี่ .. ชุมชนไทลื้อ ถิ่นเลื่องลือมิตรภาพที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนอย่างเราด้วยรอยยิ้มที่แสนอบอุ่นและจริงใจ : )

เยือนเฮือนไตลื้อแม่แสงดา สัมผัสชีวิตเรียบง่ายธรรมดาของชาวไทลื้อ
มาเยือนถิ่นไทลื้อ ถึงอำเภอเชียงคำทั้งที ถ้าจะไม่แวะมาที่เฮือนไตลื้อของแม่แสงดาคงเหมือนมาไม่ถึงเชียงคำ เพราะเฮือนไตลื้อของแม่แสงดานั้นมีอายุเก่าแก่กว่า 70 ปี ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้ แต่คุณแม่แสงดาก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้นะคะ มาถึงแล้วก็แวะไปไหว้สวัสดีคุณแม่ได้ คุณแม่อายุเข้าเลขแปดแล้วแต่ยังแข็งแรงและยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ พร้อมด้วยพี่ๆ ชาวไทลื้อที่คอยต้อนรับและให้คำแนะนำ หากใครต้องการทราบถึงประวัติของชาวไทลื้อหรือซื้อของฝาก หรือถ้าอยากสัมผัสวัฒนธรรมของชาวไทลื้ออย่างถึงพริกถึงขิง ที่เฮือนไตลื้อแห่งนี้ก็เปิดเป็นเกสต์เฮาส์ให้มานอนพักข้ามคืนกันได้ด้วย ที่นี่เขาเน้นอยู่กันแบบอบอุ่นเหมือนครอบครัว ไม่ได้เปิดเพื่อธุรกิจ ฉะนั้นรับรองว่าจะได้สัมผัสถึงความเรียบง่ายเหมือนมาพักบ้านญาติอย่างแน่นอน



นี่คือครัวที่แม่แสงดาเคยใช้ทำอาหารจริงๆ ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว แต่เปิดให้ผู้มาเยือนเข้ามาเยี่ยมชมได้จ้า

เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายของชาวไทลื้อเขาก็มีให้เช่าให้ซื้อกันนะ



ชิมเมนูเลื่องชื่อ ‘แอ่งแถะ’ จากฝีมือเชฟชุมชน
ไม่ใช่แค่อาหาร แต่ ‘แอ่งแถะ’ ยังเป็นสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพด้วย เพราะทำมาจากพืชสมุนไพรที่มีชื่อเดียวกับเมนูอาหารอย่าง ‘ใบแอ่งแถะ’ ถ้าไปเที่ยวทางแถบอีสาน อาจได้ยินคนอีสานเรียกกันว่า ‘ใบหมาน้อย’ แต่คุณสมบัตินี่ไม่น้อยเลยนาจา เพราะใบแอ่งแถะมีคุณสมบัติในการพองตัวอุ้มน้ำ จึงช่วยเพิ่มกากใยให้กับลำไส้ ช่วยดูดซับสารพิษและลดสิ่งตกค้างในลำไส้ แถมยังลดการดูดซึมของน้ำตาลและไขมัน เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นอาหารของคนเป็นโรคเบาหวานและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง

วิธีปรุงรสของเขาก็เก๋กู๊ดไม่แพ้กัน เพราะถึงแม้ชื่อจะฟังดูสมุนไพร๊สมุนไพร แต่รสชาติจริงๆ ไม่ได้ขมจนเป็นยาอย่างที่คิด กลับกินได้ลื่นคออร่อยปากเพราะชาวไทลื้อเขาจะนำใบแอ่งแถะมาตำผสมน้ำแล้วคัดกากออก ทิ้งไว้หนึ่งคืน ตื่นขึ้นมา ใบแอ่งแถะก็จะจับตัวกันเป็นก้อนนิ่มๆ ให้อารมณ์เหมือนเยลลี่ยังไงยังงั้นเลย

เวลาจะกินก็นำมาปรุงรสด้วยพริกป่น เกลือ ปลาแห้งป่น และถั่วลิสง อาจเพิ่มรสชาติอีกนิดด้วยมะกอกหรือน้ำมะนาว ขนาดคนกินยากอย่างเรายังต้องเอ่ยปากชมว่าอร่อยเลย แถมยังเป็นเมนูที่ไม่ได้กินกันง่ายๆ เพราะต้องใช้เวลาทำตัวแอ่งแถะถึงหนึ่งคืน ฉะนั้นถ้าใครผ่านไปจังหวัดพะเยา เราอยากให้ลองแวะไปที่ชุมชนไทลื้อ เพื่อชิมเมนูเลื่องชื่อจากเชฟชุมชนอย่างแอ่งแถะดูสักครั้ง รับรองว่าต้องติดใจ!


กินแกล้มกับอาหารพื้นบ้านของชาวไทลื้ออย่าง ปลาปิ้งอบ จินซั่มพริก และข้าวแคบ มื้อนี้โคตรเด็ดเลย!

ซึมซับแรงศรัทธาที่ไม่เคยเลือนหาย
ก่อนจะเข้าไปที่บ้านแม่แสงดา เราแวะมาไหว้พระที่ ‘วัดพระธาตุสบแวน’ ซึ่งเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงคำก่อน จากนั้นก็แวะไปชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมที่สร้างมาจากไม้สักทองอย่าง ‘วัดนันตาราม’ ทำให้เราสัมผัสได้ว่า ถึงแม้เราจะอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ด้วยเลือดเนื้อเชื้อชาติที่ต่างกัน แต่ทุกชุมชนต่างมีเครื่องยึดเหนียวทางจิตใจเป็นหนึ่งเดียวกัน ‘วัด’ ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจที่ไม่ว่าตั้งอยู่ที่ไหนก็ทำให้ใจเราสงบได้อยู่เสมอ

วัดนันตารามนี่เรียกว่าเป็นหนึ่งใน Unseen Thailand ได้เลย เพราะเป็นวัดที่สร้างตามแบบฉบับของศิลปะไทยใหญ่ซึ่งตัววัดสร้างมาจากไม้สักทั้งหลัง ยืนถ่ายรูปจากมุมไหนก็สวยงามตรึงใจมากๆ เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ต้องห้ามพลาดเมื่อมาเยือนเชียงคำจริงๆ ค่ะ



เดินเล่นเพลิดเพลินพร้อมชิมอาหารพื้นบ้านที่ ‘กาดไทลื้อ’
โชคดีมากกกก วันที่เราไปนั้นตรงกับวันที่เขามีการจัด ‘กาดไทลื้อ’ พอดีเลย ซึ่งโดยปกติเขาจะสลับสถานที่ในการจัดไปเรื่อยๆ บางทีก็จัดที่เฮือนแม่แสงดา แต่ครั้งนี้จัดที่วัดดอนไชย บรรยากาศครึกครื้นมาก แม้จะมีฝนตกโปรยปราย แต่ก็ยังมีชาวไทลื้อมาออกบูธขายอาหารพื้นบ้านกันเต็มพื้นที่ของลานวัดเลย



ปกติเราเป็นคนชอบเดินตลาดนัดชุมชนมาก เพราะมันทำให้รู้สึกว่าได้สัมผัสถึงธรรมชาติของชุมชนและวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดเหล่านั้นจริงๆ ก็เลยแฮปปี้กับการเดินกาดไทลื้อสุดๆ เพราะมีอาหารพื้นบ้านให้ชิมเต็มไปหมด แถมยังขายถูกมากกกกกกกกกก ซื้อของเต็มไม้เต็มมือแต่หมดไปไม่ถึง 100 บาทด้วยซ้ำ



ขนมปาด อีกหนึ่งขนมพื้นบ้านของชาวไทลื้อ อร่อยมาก กินจนกลายมาเป็นอีกหนึ่งขนมโปรด รสชาติหวานๆ มันๆ ชาวบ้านแนะนำให้ลองกินกับข้าวแคบ เอาประกบกันให้เหมือนแฮมเบอร์เกอร์ โอ้โห มันใช่! กินแล้วติดใจมากๆ อยากให้มีขายที่กรุงเทพฯ จัง

กินจนอิ่ม เดินจนเมื่อยก็แวะมานั่งดูการแสดงพื้นบ้านน่ารักจากชาวไทลื้อ เรียกว่าเป็นทริปที่อิ่มทั้งท้อง อิ่มทั้งใจ ถ้าใครแวะไปเที่ยวพะเยา เราอยากให้ลองไปสัมผัสความน่ารักของชาวไทลื้อที่อำเภอเชียงคำดู แล้วจะรู้เลยว่า “เสน่ห์ของการออกเดินทางนั้นหาใช่เพียงสถานที่เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิถีชีวิต ผู้คน และอาหาร” เราว่า .. องค์ประกอบเหล่านี้แหละ ที่ทำให้การเดินทางของเราครบรส!


ขอขอบคุณ บริษัท เบทาโกร จำกัด(มหาชน) สำหรับการสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมของโครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน