The real India การเดินทางข้าม Comfort Zone ของคนที่เคยลั่นวาจาว่า “ชีวิตนี้ฉันจะไม่ขอไปอินเดีย!”

The real India

การเดินทางข้าม Comfort Zone ของคนที่เคยลั่นวาจาว่า “ชีวิตนี้ฉันจะไม่ขอไปอินเดีย!”

- April, 2019 -

กลับมาจากอินเดียได้เกือบเดือนแล้ว แต่พอเปิดโฟลเดอร์รูปภาพจากอินเดียขึ้นมาดูทีไร มันก็ยังมีคำๆ นึงผุดขึ้นมาเสมอว่า “นี่กูไปอินเดียมาแล้วจริงๆ เหรอวะ?” .. มันเป็นคำถามเดียวกับที่เกิดขึ้นในหัววนไปวนมาตอนที่เรากำลังหายใจสูดฝุ่นควันอยู่ในประเทศอินเดียที่มากระดับจะทำให้กระดาษทิชชู่กลายเป็นสีดำเมื่อกลับมาถึงโรงแรมแล้วแคะขี้มูก! ไม่ต้องย้ำอีกครั้งก็น่าจะรู้แล้วแหละว่าอินเดียเป็นประเทศที่เรา ‘ไม่อยากไป’ มากที่สุดในชีวิต .. โอเค เราเข้าใจ ว่าเดี๋ยวนี้อินเดียไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว อินเดียไม่ใช่ประเทศที่ทุกคนพากันร้องยี๋ เพราะมีเพจท่องเที่ยวมากมายถ่ายทอดภาพความสวยงามออกมาให้เห็นจนหลายคนอยากจะเดินทางไปสัมผัสอินเดียด้วยตัวเองสักครั้ง แน่นอนว่าเราเอง .. . ไม่ใช่หนึ่งในนั้น 5555 เพราะถึงกับลั่นวาจาเอาไว้แล้วว่า ต่อให้เอาช้างมาฉุด ถ้าไม่สุดจริงๆ ชีวิตนี้กูจะไม่ขอไปอินเดีย!   

แต่โลกมันมีแรงดึงดูดเสมอ และตลกร้ายของโลกใบนี้ก็คือ แรงดึงดูดมันมักจะเหวี่ยงสิ่งที่เราเคยบ่ายเบี่ยงมาท้าพิสูจน์ให้เราพยายามก้าวข้ามอะไรบางอย่างในหัวใจ .. และนั่นแหละ คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเดินทางไปอินเดีย เพราะการผจญภัยมันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแต่ภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่มันคือสิ่งเกิดขึ้นภายในใจเราต่างหาก และถ้าเธอเป็นคนหนึ่งที่เคยตั้งป้อม Comfort Zone เอาไว้ซะหนาแน่นใหญ่โต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ลองเปิดใจอ่านรีวิวอินเดียนี้สักหน่อย ไม่แน่นะ .. อินเดีย อาจกลายเป็นจุดหมายต่อไปของเธอก็ได้ : )

“ ..All travel has its advantages.
If the passenger visit better countries,
he may learn to improve his own.
And if fortune carries him to worse,
he may learn to enjoy it.”

ปล. รีวิวอินเดียฉบับนี้ อาจไม่มีความสะดวกสบายมาเสิร์ฟ ไม่มีการเช่ารถพร้อมคนขับ แต่น่าจะมีความขำขันและประสบการณ์มันส์ๆ มาแบ่งปันกัน เพราะนี่คือรีวิวของคนที่พาตัวเองไปลองทำทุกอย่างที่ไม่คิดจะทำในประเทศที่ไม่เคยคิดจะไป!

ดูวีดีโอกระตุ้นต่อมเที่ยว




การเดินทางสู่ประเทศอินเดีย

เกริ่นก่อนว่าทริปนี้เราไปอินเดียทั้งหมด 7 วัน แต่ไปแค่สองเมืองคือ เดลี (Delhi) และอัครา (Agra) ไม่ได้แวะไปชัยปุระเหมือนที่หลายคนไปกันมา เหตุผลก็เพราะพอตัดวันเดินทางไป – กลับออกไปแล้ว จะเหลือเวลาเที่ยวอยู่แค่ไม่กี่วัน และเราไม่อยากอัดสถานที่เยอะๆ ให้เหนื่อย เพราะเราตั้งใจเดินทางด้วยตัวเอง ไม่ได้เช่ารถพร้อมคนขับ อยากลองนั่งรถไฟอินเดียดูสักครั้ง ที่สำคัญพอมาลองหาข้อมูลเกี่ยวกับอินเดียมากขึ้น ก็พบว่าเมืองเดลีเองก็มีสถานที่น่าสนใจเยอะมากกว่าที่คาดมากทีเดียว ฉะนั้นแผนการเดินทางครั้งนี้ของเราจึงเริ่มต้นขึ้นที่เมืองเดลีค่ะ

เราเลือกบินไปนิวเดลี (New Delhi) ด้วยสายการบิน Nokscoot เพราะลองหาข้อมูลดูแล้ว นกสกู๊ตมีไฟลท์บินตรงสู่สนามบินนิวเดลี (Indira Gandhi International Airport) ในราคาถูกที่สุดในบรรดาสายการบินที่มีเที่ยวบินตรงสู่เมืองเดลี ราคาเริ่มต้นแค่ประมาณ 3,500 บาท/เที่ยวเท่านั้นเอง ที่สำคัญยังใช้เครื่องลำใหญ่โบอิ้ง 777-200 เป็นที่นั่งแบบ 3-4-3 นั่งสบายไม่อึดอัด แถมยังได้คลุกคลีกับแขกตั้งแต่ยังไม่ถึงอินเดีย เพราะมีแต่แขกบินกันเต็มลำเลย ซึ่งความบันเทิงสไตล์อินตะระเดียนั้น เธอจะได้สัมผัสตั้งแต่บนเที่ยวบินนี้เป็นต้นไป 5555 เพราะแขกเดินทักกันเหมือนยกหมู่บ้านแล้วเช่าเหมาลำมาเที่ยวเมืองไทยเลยจ้าา ที่พีคสุดคือพอเครื่องจะ Take off แขกก็ร้องเพลงปลุกใจกันเว้ย! เสียงดังลั่น ฝั่งนึงร้องบิ้ว อีกฝั่งนึงร้องตอบรับ อารมณ์เหมือนมาดูคอนเสิร์ตพี่ตูนแล้วพี่ตูนร้องเฮโฮ พร้อมกับยื่นไมค์ให้คนดูร้องเฮโฮตอบอ่ะ อยากรู้ว่าบันเทิงยังไงต้องลองบินนกสกู๊ตดู 5555 อ้อ แต่บนเครื่องไม่ได้มีกลิ่นเหม็นอย่างที่คิด ไม่ต้องกังวล เราไปอยู่อินเดียมาก็ยังไม่ได้กลิ่นเหม็นของแขกจนต้องร้องยี๋ เออ นี่คือเซอร์ไพรส์ดอกที่หนึ่ง .. แขกสมัยใหม่ไม่ได้เหม็นอย่างที่คิดว่ะ!




เราสั่งอาหารก่อนล่วงหน้าทั้งขาไปและขากลับ เพราะเห็นว่ามีเมนูอาหารอินเดียด้วย อยากค่อยๆ ปรับตัวก่อนไปเจออาหารอินเดียแท้ๆ 555 

ใครสนใจอยากลองหาไฟลท์เดินทางไปเดลีกับนกสกู๊ต ลองเข้าไปเช็คราคาได้ที่เว็บไซต์ของ Nokscoot เลย เขามีเที่ยวบินตรงสัปดาห์ละ 4 วันให้เลือกจ้า > Click < 

อ้อ มาอินเดีย คนไทยต้องทำวีซ่านะคะ แต่ของ่ายมากกก ขอเองทางออนไลน์ได้เลย > Click < ตอบกลับเร็วมากกก เราใช้เวลาแค่ 1 วันถ้วน ก็ได้อีเมลอนุมัติวีซ่าแล้ว ค่าวีซ่าแบบ E- Tourist Visa คือ 81.99 USD จ่ายโดยตัดบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตก็ได้ ตอนจะผ่าน ตม. ก็แค่พรินต์เอกสารที่มีหมายเลขยืนยันแล้วยื่นพร้อมกับพาสปอร์ต ที่อยากจะเล่าก็คือ ตม. อินเดียตลกมาก เขาถามเราว่า What is your mother’s name? เฮ้ย! นี่มันมิติใหม่แห่งการผ่าน ตม. เลยนะ! 5555 




ที่พักในเมืองเดลี

เราอยู่เที่ยวในเมืองเดลีแค่ 3 วัน 2 คืน ไม่นับวันที่ออกเดินทางแล้วมาถึง เพราะมาถึงก็ดึกแล้ว ซึ่งที่พักในเมืองเดลีที่เราเลือกคือ Bloomrooms สาขา New Delhi Railway Station เป็นโรงแรมที่เปรียบเสมือนสวรรค์ของคนเที่ยวเดลีเลยทีเดียว เพราะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดในเดลีแล้ว 5555 อันนี้ไม่นับเสียงแตรที่กระหน่ำกันบีบเหมือนชีวิตนี้ไม่เคยบีบแตรของคนอินเดียนะ แต่บรรยากาศภายในโรงแรมช่างผิดแปลกจากสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกประตูโรงแรมจริงๆ ข้างนอกวุ่นวายมากกกก แต่พอเดินเข้ามาในโรงแรม เธอจะพบแต่ความชิค ทุกอย่างดูสะอาดตา เหมือนไม่ได้อยู่ในเดลีเลย

เราพัก 2 คืน ราคาแค่ 2,900 บาทเท่านั้นเองค่ะ ตกคืนละ 1,450 บาท แต่มีแอร์ มีห้องน้ำในตัว มีตู้กดน้ำตั้งเอาไว้ให้ที่ส่วนกลางของแต่ละชั้น (มีทั้งน้ำร้อน และน้ำเย็น) ราคานี้รวมอาหารเช้าแล้วด้วย ข้อเสียก็คือโรงแรมตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีรถไฟ New Delhi ซึ่งวุ่นวายระดับแปด! ตกกลางคืนประมาณ 2-3 ทุ่ม จะมีแกงค์กลองสะบัดชัยมาแห่รำวงอะไรกันก็ไม่รู้ โคตรบันเทิง 5555 เสียงดังเหมือนระเบิดลง เพราะเขาแห่กันด้านหน้าโรงแรมเลย ข้อดีก็คือ ได้แอบดูคนอินเดียเต้น ม่วนเวอร์ เต้นได้อร่อยเด็ดจนตูอยากจะลงไปเต้นด้วยจริงๆ 55555 อ้ะ ใครอยากรู้ต้องมาลองจ้า




การเดินทางในเมืองเดลี

ไม่ต้องกังวลอะไรสำหรับการเดินทางในเมืองเดลีเลยค่ะ เพราะมีรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งค่อนข้างครอบคลุมสถานที่ท่องเที่ยวเด่นๆ แต่ไอ้เรามันเป็นสายอินดี้ ไม่ค่อยชอบไปตามจุดแลนด์มาร์กเท่าไร ฉะนั้นสถานที่ต่างๆ ในเดลีของเราก็จะแปลกๆ นิดนึง บางทีรถไฟใต้ดินก็เข้าไม่ถึง ต้องอาศัยริกชอว์ (สามล้อ) และออโต้ริกชอว์ (ตุ๊กตุ๊ก) บ้าง แต่หลังๆ เริ่มรำคาญความตื้อของพวกริกชอว์ คือมันตื้อระดับโลกจริงๆ นะ ใครเป็นเซลล์นี่มาเรียนรู้จากคนอินเดียได้เลย พี่เขาเป็นสุดยอดนักขายจริงๆ พยายามทำทุกอย่าง ทุกทาง! เพื่อให้ได้มาซึ่งลูกค้า บางทีเราอยากเดิน ปฏิเสธไปแล้ว มันก็ยังขับรถตามตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางเลยนะ โอ๊ย ยอมใจ!

ทางออกในการตัดความรำคาญของเราก็คือ Uber ค่ะ แรกๆ ก็กังวลว่ามันจะดีเหรอว๊า มันจะโกงไหมวะ จะกดมิเตอร์ไหมเนี่ย ผลปรากฏว่า Uber คือพ่อพระที่ประเสริฐที่สุดในอินเดียแล้วจ้า ถ้านับจาก 100% จะมีอยู่แค่ 5% เท่านั้นที่อาจจะโกงเงินเราบ้าง ด้วยมุขตลกง่อยๆ ว่าไม่มีเงินทอน บางที 5 บาท 10 บาท มั๊นก็ยังจะเอา แต่ใครได้ลองไปอินเดียก็อย่าไปวอรี่เรื่องโดนโกงมากเลยค่ะ จะหมดสนุกเอาซะเปล่าๆ บางทีไอ้ที่มันโกงเราไป ถ้าแปลงเป็นเงินไทยแล้วก็ไม่ได้มากมายอะไร ถือว่าเป็นค่าประสบการณ์ 555

ส่วนการเรียก Uber ในอินเดียก็โคตรง่าย แค่ดาวน์โหลดแอปมาประดับสมาร์ทโฟน จะไปไหนก็จิ้มปลายทาง มันก็จะเด้งขึ้นมาบอกเราเลยว่าใกล้ๆ นี้มี Uber ที่พร้อมให้บริการกี่คัน และจะมาถึงจุดที่เราอยู่ในอีกกี่นาที พร้อมแจ้งราคาเสร็จสรรพ ซึ่งราคานั้นก็ถือว่าถูก ถ้าเทียบกับการขึ้นแท็กซี่ในไทยค่ะ เราขึ้นไม่เคยเกิน 100 บาทเลย ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 50-60 บาท พอขึ้นรถไป คนขับก็กดมิเตอร์ทุกคัน และราคาก็ไม่เคยเกินจากที่ในแอปแจ้งไว้สักครั้ง แนะนำว่าให้ไปยืนเรียกในจุดที่ไกลจากพวกริกชอว์สักนิด ไม่งั้นมันจะมาจอดกดดันเราจนกว่า Uber จะมา บางทีก็จะคุกคามด้วยการบอกว่า “ไหน Uber มันให้ยูเท่าไร อินี่ฉานจะให้ถูกกว่า!” อ้อเนาะ อย่ามาเล่นลิ้น กูรู้ พอถึงปลายทางมึงก็จะบวกกู๊! เที่ยวอินเดียก็ทำให้เรากลายเป็นสาวสตรองขึ้นได้นะ 5555




สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเดลี

อย่างที่บอกว่าสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองเดลีของเราออกจะอินดี้ๆ นิดนึง คือออกแนวตามกลิ่นรูปสวยๆ ใน IG ไปมากกว่า เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีแลนด์มาร์คเด่นๆ อย่างเช่น ป้อมแดง หรือ Red Fort แต่เรามั่นใจนะว่าแต่ละสถานที่ที่เราเอามาฝากเองก็มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน มันคือเสน่ห์ของการเรียนรู้วิถีชีวิตของคนอินเดีย มากกว่าแค่มาเพื่อไปถ่ายรูปตามสถานที่สำคัญของเมืองเดลีเฉยๆ .. ป่ะ! ไปเที่ยวเดลีแบบฮิปๆ กัน!

Lodhi Colony

ขอนิยามย่านนี้ว่าคือ Street art of Delhi ซึ่งเป็นย่านที่เราอยากพรีเซนต์มากกกกก เพราะไม่มีอะไรเหมือนเดลีเลย (เดี๋ยว! มันจะไม่เหมือนได้ไงป้า นี่มันเดลี 5555) .. เฮ้ย ไม่เหมือนจริงๆ นะ เพราะจากความวุ่นวายระดับแปดที่เราเจอแถวสถานีรถไฟนิวเดลี พอมาเดินเล่นอยู่ในย่านนี้มันแทบไม่มีภาพความวุ่นวายให้เห็นเลย รถราก็น้อย ก็เลยไม่ค่อยได้ยินเสียงแตรไปโดยปริยาย โคตรสบายหู 555

ไฮไลท์ของย่าน Lodhi Colony  ก็คือผลงานศิลปะ กราฟฟิตี้ ที่ออกแบบเอาไว้อย่างสวยงามตามกำแพงบล็อคต่างๆ ความสนุกก็คือเราสามารถเดินเล่นและถ่ายรูปได้ตลอดแนวถนนเลย เพราะแต่ละบล็อคก็จะมีผลงานศิลปะที่แตกต่างไม่ซ้ำกัน ซึ่งตอนแรกเราก็กะมาถ่ายรูปชิคๆ เฉยๆ นั่นแหละ แต่พอเดินเล่นถ่ายรูปไปเรื่อยๆ ก็เอ๊ะใจว่า เฮ้ย! นี่มันลึกซึ้งกว่าผลงานศิลปะนี่หว่า เพราะแต่ละบล็อค แต่ละผลงาน เขามีการคิด ครีเอทมาก่อนแล้วว่าจะวาดเป็นรูปอะไรที่เข้ากับบรรยากาศแถวนั้น

ยกตัวอย่างเช่นรูปนก พอไปยืนถ่ายเล่นอยู่สักพัก ก็เริ่มสังเกตว่า เออ มันมีเสียงนกร้องตลอดเวลาเลย หรือบางจุดที่เขาวาดลวดลายของกิ่งไม้ ก็พบว่าบริเวณนี้มันมีแสงแดดส่องลงมาตกกระทบกลายเป็นเงาของกิ่งไม้ใหญ่เหมือนกับภาพวาดเป๊ะ ที่สำคัญย่านนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยนะ เพราะเขาต้องการสร้างภาพเดลีให้กลายเป็นเมืองศิลปะ .. บางทีแค่ลองมองข้ามมุมสกปรกของบ้านเมืองเขาไปบ้าง ก็จะพบว่าเดลีเองก็มีมุมสร้างสรรค์ให้สัมผัสอยู่เยอะเลยนะเนี่ย : )  

การเดินทาง : นั่งรถไฟใต้ดินลงสถานี Jor Bagh แล้วเดินประมาณ 15-20 นาที หรือโบกริกชอว์ประมาณ 50 รูปี

แผนที่ Lodhi Colony

Yamuna Ghat

อย่าเพิ่งบอกว่าที่นี่คือบางปู 5555 เพราะนี่คือจุดเช็คอินที่ชิคที่สุดในเดลีแล้วววว ถ้าใครตาม IG ฝรั่งที่เป็นสายท่องเที่ยว เรามั่นใจว่ายังไงก็ต้องเคยเห็นรูปของ Yamuna Ghat ผ่านตาอย่างแน่นอน ซึ่งมันค่อนข้างจะหาข้อมูลยากมากกก เพราะไม่มีใครรีวิวไว้เป็นเรื่องเป็นราวเลย เราเองพยายามค้นชื่อของสถานที่นี้อยู่นาน ส่วนใหญ่จะเช็คอินสถานที่กันที่ Delhi ค้นไปค้นมาถึงได้รู้ว่าตรงจุดที่เขาถ่ายรูปเรือกับนกเยอะๆ คือ แม่น้ำยมุนา ซึ่งเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู มีต้นน้ำจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลขนานกับแม่น้ำคงคาผ่านเมืองเดลีและไหลผ่านไปทางเมืองอัคราด้วย มีความยาวประมาณ 1,376 กิโลเมตรเลยทีเดียว ฉะนั้นอย่าแปลกใจถ้าไปอัคราแล้วจะได้ยินชื่อแม่น้ำยมุนาที่ไหลผ่านด้านหลังของทัชมาฮาล เพราะมันคือแม่น้ำสายเดียวกันนั่นเอง

บริเวณ Yamuna Ghat ของเมืองเดลี ค่อนข้างโด่งดังในกลุ่มช่างภาพ เพราะทุกๆ ช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน – มีนาคม จะมีนกนางนวลไซบีเรียจำนวนมากอพยพหนีหนาวมาจากไซบีเรีย ซึ่งบริเวณนี้ตั้งอยู่ใกล้กับ Nigambodh Ghat  เป็นที่เผาศพของชาวฮินดู ฉะนั้นก่อนจะเดินไปถึงแม่น้ำ มันก็จะสกปรกๆ หน่อยนึง แต่ในแม่น้ำไม่เหม็นค่ะ แนะนำว่าให้ไปแต่เช้าตรู่ แล้วจ้างเรือให้พายออกไปถ่ายรูปแสงเช้าจากในเรือ สวยมากกกกก

ไฮไลท์ของที่นี่คือนกจำนวนมากจะมาบินวนอยู่รอบเรือ ออกจะเหนือชั้นกว่าบางปูอยู่นิดนึงใช่ปะ 5555 โดยเด็กพายเรือเขาก็จะช่วยเรียกนกให้มาบินรอบเรือ เพราะคนที่ลงเรือมาส่วนใหญ่ต้องการได้ภาพนกเยอะๆ ทั้งนั้นค่ะ เขาจะเอาอาหารลงมาล่อนก แล้วก็ส่งเสียงเรียกดังๆ นกก็จะบินมาวนรอบเรือ แนะนำว่าให้จ้างเป็นเรือส่วนตัวไปเลยนะ จะได้ถ่ายรูปได้อย่างเต็มที่ เพราะตอนเราถาม ก็เห็นว่าไม่มีใคร ตั้งใจจะจ้างส่วนตัวเหมือนกัน แต่พอจะลงเรือ ดันมีผู้ชายอินเดีย 2 คน ผลุบลงมาด้วย อารมณ์เหมือนรอคนมาจ้างเรืออยู่นานแล้ว อีนี่ฉานขอไปด้วยนะจ๊ะนาย 555 อ้ะ โอเค๊ ไม่เป็นไร ขึ้นมาแค่ 2 คน สบ๊าย เพราะเรือลำใหญ่ .. ที่ไหนได้ พอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ขึ้นแล้วนกเยอะๆ นางมาแย่งที่นั่งหัวเรือเฉ๊ย เราก็เลยอดเป็นนางแบบในช่วงที่แสงสวยที่สุดเลย .. ไม่เป็นไร จับเอามาเป็นนายแบบแทนซะเลยยย

เอาจริงๆ คนอินเดียค่อนข้างเฟรนลี่นะ ลงเรือมาก็นั่งคุยกัน เขาเพิ่งมาเที่ยวกรุงเทพเมื่อปลายปีที่แล้วเอง ก่อนไปอินเดีย เราจะมีภาพในหัวว่าคนอินเดียคือพวกแขก จะต้องมีกลิ่นเหม็น จะต้องขี้โกง แต่วัยรุ่นอินเดียคือโอเคมากๆ ทุกคนเลย ไม่ได้มีกลิ่นเหม็นอย่างที่คิด พูดภาษาอังกฤษเก่ง แล้วก็ค่อนข้างขี้เล่นเหมือนคนไทย บางครั้งเราก็ตัดสินอะไรจากแค่กลุ่มมวลเล็กๆ ไม่ได้หรอกเนอะ เพราะสิ่งที่เราเห็น อาจไม่ใช่ทั้งหมดที่เขาเป็นก็ได้ : )

สำหรับวิธีการเดินทาง เราเรียก Uber จากที่พักให้มาส่งค่ะ เพราะมันค่อนข้างไกลจากสถานีรถไฟใต้ดิน ถ้าใครจะไปตามรอย พอลงจากรถแล้วก็อย่าเพิ่งตื่นตกใจ ถ้าเจอบ้านคนเยอะๆ ให้เดินผ่านเข้าไปได้เลย พอเดินไปถึงริมแม่น้ำแล้ว จะเจอเรือจอดเรียงกันอยู่ ลองไปด้อมๆ มองๆ เลือกเรือได้เลย เรือพวกนี้จอดไว้หากินกับพวกนักท่องเที่ยวอย่างเราอยู่แล้ว 5555 เรือที่เราถาม เขาบอกว่าให้เราจ่ายตามใจได้เลย เราก็เลยให้ไป 100 รูปี หรือประมาณ 45 บาท เพราะเขาวนเรือให้อยู่นานเลยค่ะ อยู่ในเรือประมาณ 1-2 ชั่วโมงได้ เราว่าถ้าใครจะไปก็ไม่ควรให้เขาเรียกเก็บเกินกว่า 100 รูปีจ้า

แผนที่ Yamuna Ghat



Agrasen ki Baoli

คนที่ไม่เคยคิดจะไปเที่ยวอินเดีย สุดท้ายก็จับพลัดจับผลูเผลอไปตามรอยหนังอินเดียโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ ถ้าใครอยู่ในวงการ Bollywood คงรู้จักสถานที่นี้ดีอย่างแน่นอน เพราะคนอินเดียหลายคนก็มาเที่ยวที่ Agrasen ki Baoli เพื่อตามรอยหนังเรื่อง PK นี่แหละ

PK คือหนังตลกแนวเสียดสีสังคมและศาสนาของอินเดีย เป็นหนังอินเดียเรื่องแรกที่ทำให้เราเปิดใจดูหนังอินเดียเรื่องอื่นๆ เพราะไม่อยากจะเชื่อว่าประเทศที่มีมวลความเชื่อและความศรัทธาหนาแน่นอย่างอินเดียจะสร้างหนังที่ทำให้คนตั้งคำถามเรื่องความศรัทธาทางศาสนา ที่สำคัญหนังเรื่องนี้นำแสดงโดย อาเมียร์ ข่าน นักแสดงระดับซุปเปอร์สตาร์ของอินเดียด้วย ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากบ่อน้ำขั้นบันไดเก่าแก่แห่งนี้จะกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของคนอินเดีย!

Baoli เป็นชื่อเรียกบ่อน้ำขั้นบันไดในภาษาฮินดีค่ะ เป็นบ่อน้ำแบบโบราณ สร้างขึ้นเพื่อกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้อุปโภค บริโภคในยามขาดแคลน โดยใช้ประโยชน์จากขั้นบันได เวลาฝนตกลงมา น้ำก็จะไหลจากด้านบนลงสู่ด้านล่าง ถ้าใครเคยไปชัยปุระคงรู้จักบ่อน้ำ Stepwell แบบนี้ดี เพราะที่ชัยปุระนั้นใหญ่โตโอ่อ่ากว่าเยอะ ซึ่งปัจจุบันได้ห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวลงไปถ่ายรูปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเพราะอันตราย แต่ที่เดลีสามารถเดินลงไปได้ตามใจเลย เพราะไม่มีน้ำ ไม่อันตรายค่ะ แต่ด้านล่างฝุ่นเยอะมากกกก เราลงไปได้แปบเดียวต้องรีบกลับขึ้นมานั่งอยู่บนๆ ถึงค่อยหายใจหายคอสะดวกหน่อย

หลายๆ เว็บเขาแนะนำว่า ควรไปแต่เช้า ตั้งแต่เวลาเปิดประมาณ 8 โมง เพราะหลังจาก 9-10 โมงเป็นต้นไป คนจะเยอะมาก ซึ่งก็เยอะมากจริงๆ 5555 เพราะเราไปช่วงบ่าย แถมเป็นวันเสาร์ – อาทิตย์อีก โอ้โห นี่คือสถานที่พักผ่อนของคนอินเดียดีๆ นี่เอง คนอินเดียทยอยกันมานั่งเล่น ถ่ายรูปกันอย่างคับคั่งเลย

ถ้าเป็นแต่ก่อนเราคงนั่งเซ็ง เพราะหามุมถ่ายรูปยาก แต่เดี๋ยวนี้เข้าใจธรรมชาติของการท่องเที่ยว บางทีเราก็ควบคุมสถานการณ์บางอย่างไม่ได้หรอก ทำได้ก็แค่เอ็นจอยกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ผลปรากฏว่าเราเอ็นจอยกับการนั่งดูคนอินเดียมาถ่ายรูปเล่นกันที่สถานที่แห่งนี้มากๆ เพราะแต่ละคนนี่งัดท่าเด็ดออกมาเหมือนหลุดออกมาจากนิตยสารเธอกับฉันเลยจ่ะ 5555 กลายเป็นว่านั่งดูคนอินเดียถ่ายรูปเพลินกว่าถ่ายเองอี๊กก แล้วแฟชั่นการแต่งกายของคนอินเดียนี่นะ พี่ติ๊กเจษยังชิดซ้าย มอส ปฏิภาณยังชิดขวา พี่โดม ปกรณ์ ลัม มาเห็นนี่ยอมถอยหลังไปชิดกำแพงเลยจ้า 5555 เราชอบนะ เหมือนได้เข้าถึงวิถีชีวิตแบบปกติของเขาจริงๆ อ้อ ที่นี่เข้าฟรีนะคะ อยู่ได้ตั้งแต่เช้ายันเย็นเลย   

วิธีการเดินทาง : นั่งรถไฟใต้ดินลงสถานี Barakhamba Road แล้วเดินประมาณ 700 เมตร ถ้าไม่อยากเดิน แนะนำเรียก Uber เลยค่ะ สะดวกกว่าแล้วก็ราคาไม่ได้แพงมากมายค่า

แผนที่ Agrasen ki Baoli

Connaught Place

จะเรียกว่าเป็น Siam Square แห่งเมืองเดลีก็ได้นะ เพราะบริเวณนี้เรียงรายไปด้วยร้านค้าช็อปปิ้ง โดยเฉพาะแบรนด์เนม รวมไปถึงร้านอาหารมากมายให้เลือกสรร ซึ่งย่านนี้ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟ New Delhi แค่ 1 สถานีเองค่ะ เรานี่แวะมาฝากท้องแทบทุกวัน และแน่นอนว่าร้านประจำของเราก็หนีไม่พ้น KFC 5555 ฉะนั้นถ้าใครไม่สันทัดอาหารอินเดีย แนะนำให้แวะมาหาอะไรกินที่นี่ได้เลย มีทั้ง เคเอฟซี แมคโดนัล พิซซ่าฮัท โอ๊ยยย สวรรค์จ้าสวรรค์ 555

ตรงกลางของจตุรัสจะเป็นสวนสาธารณะของเดลี เรียกว่า Central Park อ้อเนาะ เดลีก็มีเซ็นทรัลพาร์กนาจา 555 เราแวะไปช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ ค่อนข้างคึกคักทีเดียว มีการเปิดเพลง จัดแสดงน้ำพลุ สร้างสีสันให้คนอินเดียที่พาครอบครัวมาเดินเล่นกัน

เห็นพฤติกรรมการถ่ายรูปของคนอินเดียแล้วก็ยิ้มได้ทุกครั้งจริงๆ นะ ถ้าถามว่าเราชอบพฤติกรรมอะไรของคนอินเดียมากที่สุดก็เห็นจะเป็นการเซลฟี่นี่แหละ คือพี่แกเซลฟี่ได้ทุกที่ ทุกเวลา 555 ดูแล้วเป็นกิจกรรมที่สร้างความสุขของเขาจริงๆ .. เวลาไปต่างประเทศ เราชอบไปเดินเล่นในสวนสาธารณะของประเทศนั้นๆ เพราะจะได้สัมผัสกับชีวิตประจำวันของคนท้องถิ่นนี่แหละ คือมันได้เห็นพฤติกรรมอะไรที่ไม่ปรุงแต่ง นั่งมองผู้คนเดินผ่านไปผ่านมา แล้วก็บอกกับตัวเองว่า .. นี่เรามาถึงเดลีจริงๆ แล้วนะ มาแล้วจริงๆ นะเว้ยยย .. อินเดีย : )

วิธีการเดินทาง : นั่งรถไฟใต้ดินลงสถานี Rajiv Chowk

แผนที่ Connaught Place



จากเดลีสู่เมืองอัครา อนุสรณ์สถานแห่งรัก ‘ทัชมาฮาล’

หลังจากเที่ยวในเดลี เราก็นั่งรถไฟไปเที่ยวอีกหนึ่งเมืองยอดฮิตของอินเดีย นั่นก็คือ อัครา (Agra) หรือเมืองที่ตั้งของหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่างทัชมาฮาลนั่นเอง ขอออกตัวก่อนเลยว่าก่อนไป เราไม่ได้มีความกระตือรือล้นอยากไปดูทัชมาฮาลเลยสักนิด ก็นะ คนมันไม่เคยมีอินเดียเป็นหนึ่งในจุดหมาย แต่พอได้ไปสัมผัสทัชมาฮาลด้วยตาของตัวเองแล้ว เรานี่ดริฟความคิดเกือบไม่ทันเลยค่ะ กลายเป็นว่า ทัชมาฮาล คือสิ่งที่เราชอบมากที่สุดในทริปอินเดียครั้งนี้เลย

สำหรับการเดินทางสู่เมืองอัครานั้นสามารถเช่ารถเหมาไปก็ได้ หรือจะนั่งรถไฟก็ได้ แต่ถ้าใครไม่ได้กะไปเที่ยวชัยปุระต่อ แนะนำว่าลองลิ้มรสประสบการณ์การนั่งรถไฟในอินเดียดูสักครั้งแล้วจะเซอร์ไพรส์ค่ะ เพราะรถไฟไปเมืองอัครานั้นมีขบวนด่วนที่หรูหราไฮโซเหมือนรถไฟสายท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเลย มีอาหาร เครื่องดื่ม เสิร์ฟระหว่างการเดินทางด้วย แถมยังใช้เวลาแค่ประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาทีเท่านั้น ในขณะที่ถ้าเช่ารถพร้อมคนขับจะใช้เวลาเดินทางนานเกือบ 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ส่วนวิธีการจองตั๋วรถไฟอินเดียก็ค่อนข้างมีความยุ่งยากลำบากอยู่พอตัว เพราะต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกผ่านเว็บไซต์ของ IRCTC ซึ่งเป็นเว็บของการถไฟอินเดีย (India Railway Catering Tourism Corporation Limited) > Click < ขั้นตอนนี้จะต้องเสียค่าสมัครด้วย 122 รูปี หรือประมาณ 55 บาท จากนั้นก็ต้องไปสมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์จองตั๋วรถไฟ Cleartrip > Click < แต่ขั้นตอนนี้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม โดยเวลาจองตั๋วรถไฟ เราจะทำการจองผ่านเว็บ Cleartrip แต่ต้อง Log in ทั้งสองเว็บไซต์ไว้พร้อมกัน จ่ายตังค์โดยตัดบัตรเครดิตค่ะ เราตั้งใจอยากทำคัมภีร์เที่ยวอินเดียด้วยตัวเองไว้สำหรับเป็นข้อมูลให้คนที่มีแพลนไปอินเดียด้วย เดี๋ยวเอาไว้เราจะรีวิววิธีการสมัครอย่างละเอียดให้อีกทีนะ : )

สำหรับขบวนรถไฟ เราแนะนำว่าให้เลือกจองขบวน Bhopal Shatabdi ออกจากเดลีเวลา 06:00 น. หรือขบวน Gatimaan Exp ออกจากเดลี 08:10 น. เพราะเป็นรถไฟด่วน ใช้เวลาเดินทางแค่ 1 ชั่วโมง 40 นาที ส่วนตัวเราเลือกเวลา 08:10 น. เพราะขี้เกียจตื่นเช้า 555 แนะนำว่าให้จองล่วงหน้านานสักหน่อยนะ เพราะรถไฟอินเดียเต็มค่อนข้างเร็ว ส่วนราคาอยู่ที่คนละ 940 รูปี/เที่ยว เป็นที่นั่งแบบ Exec. Chair Car ฝั่งละ 2 ที่นั่ง ไม่ใช่ตู้นอนเหมือนรถไฟอินเดียธรรมดาทั่วไปค่ะ

พอถึงอัครา เราก็เดินออกมาขึ้น Prepaid Taxi ด้านหน้าสถานี ซึ่งมีราคาที่ตายตัวกำหนดไว้แล้ว เอาจริงๆ ก็ราคาแพงกว่า Uber เยอะมากกกก แต่ทนแรงตื้อไม่ไหว Uber มันไม่สามารถเข้ามาจอดหน้าสถานีได้ ถ้าจะเรียกต้องเดินออกไปไกลเลย เราก็เลยตัดปัญหา ขึ้น Prepaid Taxi ก็ได้วะ ทีเด็ดก็คือคนขับจะเข้ามารุมเชียร์รถของตัวเอง แล้วพาเราไปจ่ายตังค์ที่เคาน์เตอร์ แต่ตอนเดินขึ้นรถ จะมีคนขายทัวร์นั่งพ่วงมาด้วยจ้า นี่สินะ! อินเดีย 5555 แต่เราไม่ได้ซื้อทัวร์ของเขาค่ะ เพราะตั้งใจจะเรียก Uber ไปเที่ยวเอง อยากใช้เวลาแช่ถ่ายรูปอยู่แต่ละสถานที่นานๆ มากกว่า ไม่อยากมีคนขับแท็กซี่มาคอยกดดัน เป็นสายชิลจ้า

Taj Mahal

ก่อนมาอินเดีย ได้ยินเขาบอกกันว่า โลกนี้มีคนอยู่ 2 ประเภท คือ หนึ่ง คนที่ยังไม่เคยเห็นทัชมาฮาล กับ สอง คนที่ได้มาสัมผัสทัช มาฮาล ด้วยตัวเองแล้ว .. เราไม่เข้าใจหรอกคำพูดพวกนี้ ทำไมต้องให้ความสำคัญกับคนที่ดั้นด้นพาตัวเองมาดูอนุสรณ์แห่งโศกนาฏกรรมความรักของผู้ชายเห็นแก่ตัวคนหนึ่งที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อคนรักแต่ไม่เคยเห็นค่าชีวิตของคนอื่น ชายผู้ที่ยอมสั่งฆ่าทุกคนที่ร่วมสร้างทัชมาฮาล เพียงเพราะไม่อยากให้มีสิ่งปลูกสร้างที่สวยงามกว่า มันควรจะเป็นอนุสรณ์แห่งความตายมากกว่าอนุสรณ์แห่งความรักมั้ย? ขนาดว่าน้องชายแท้ๆ ยังต้องจับตัวพระเจ้าชาห์ ชหาน ผู้สร้างทัชมาฮาล มาขังไว้ เพราะไม่งั้นแกคงเอาเงินไปเปย์ให้พระมเหสีที่จากไปแล้วจนประเทศสิ้นเนื้อประดาตัว 

นั่นคือความคิดของเรา ก่อนจะมีโอกาสได้เข้าไปดูทัชมาฮาลค่ะ มันก็คงจะเป็นความคิดของคนในประเภทที่หนึ่ง คือคนที่ยังไม่เคยมาสัมผัสทัชมาฮาลด้วยตาของตัวเอง ..

วันแรกที่มาถึง เราตระเวนถ่ายรูปรอบๆ ทัชมาฮาลก่อน มีโอกาสได้มองจากไกลๆ มองยังไงก็ยังไม่รู้สึกถึงความอลังการที่เขาพูดกัน ไม่เข้าใจว่าทำไมใครๆ ถึงบอกว่านี่เป็นสุสานหินอ่อนที่สวยที่สุดในโลก จนกระทั่งได้ซื้อตั๋วเข้าไปสัมผัสความรักของพระเจ้าชาห์ ชหานแบบใกล้ชิดในรุ่งเช้าของอีกวัน

วินาทีที่เดินผ่านประตูแรกเข้าไปแล้วทัช มาฮาลค่อยๆ ปรากฏขึ้นจากหมอกสีขาว วินาทีนั้นเราเข้าใจทันทีว่าสิ่งที่พระเจ้าชาห์ ชหานต้องการสร้างไม่ใช่สุสานที่สวยที่สุดในโลก หากแต่เพียงต้องการให้คนทั้งโลกเข้าใจถึงความรักที่ผู้ชายคนนึงจะมีต่อหญิงสาวคนนึงได้ ดั่งคำกล่าวสุดท้ายของพระมเหสีมุมตัช มาฮาล ว่า “ขอพระองค์จงบอกแก่ชาวโลกว่าทรงรักหม่อมฉันอย่างไรและมากแค่ไหน”

“สักครั้งในชีวิต ต้องมาพิชิตทัชมาฮาล” ไม่ใช่คำกล่าวที่เกินจริงเลย .. นี่พูดจากใจคนที่ไม่เคยมองเห็นทัชมาฮาลอยู่ในสายตาเลยนะคะ ฉะนั้นถ้ามีโอกาส เราอยากให้ลองไปสัมผัส ‘รักแท้’ ที่ทัชมาฮาลด้วยตัวเองสักครั้ง บางสิ่งบางอย่างต้องใช้ความรู้สึกเป็นสื่อนำจริงๆ นะ : )

ปล. เวลาเปิด – ปิดของทัชมาฮาลคือ พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก ส่วนราคาตั๋วค่าเข้าทัชมาฮาล ถ้าโชว์พาสปอร์ตไทยจะเหลือแค่ 740 รูปี (ราคาขึ้นจากเดิมแล้วเด้อ ถ้าอ่านรีวิวอื่นๆ เขาจะบอกกันว่า 540 รูปี ถ้าไปจ่ายตังค์แล้วโดนคิด 740 รูปี ก็อย่างงนะคะ แขกไม่ได้โกงค่า 555) แนะนำให้มาถึงแต่เช้า นอกจากอากาศจะไม่ร้อนแล้ว ยังได้เห็นภาพทัชมาฮาลที่ค่อยๆ เปลี่ยนสีไปตามแสงของพระอาทิตย์ด้วย สวยมากๆ เลย

แผนที่ Taj Mahal




Agra Fort

อีกหนึ่งสถานที่ที่ไม่มาไม่ได้ เพราะเป็นอีกหนึ่งอนุสรณ์สถานสำคัญของอินเดีย รวมถึงอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวมากมายทางประวัติศาสตร์ ป้อมอัคราแห่งนี้นี่แหละที่เป็นสถานที่ที่พระเจ้าชาห์ ชหาน ถูกขังไว้ และเฝ้ามองทัชมาฮาลจนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต ..

เอาจริงๆ นะ ถ้าจะถามว่าเราชอบทัชมาฮาลจากมุมไหนมากที่สุด คำตอบก็คงเป็นมุมจากป้อมอัครา มุมเดียวกับที่พระเจ้าชาห์ ชหาน เฝ้ามองดูทัชมาฮาลจนสิ้นชีพไปนี่แหละ เราว่ามันเป็นมุมที่แฝงด้วยความรู้สึกมากมายเลย ส่วนค่าเข้าเราจ่ายไป 50 รูปีค่ะ วิธีการเดินทางก็ง่ายๆ Uber เลยจ้า Uber ดีที่สุดสำหรับเราในอินเดียค่ะ! 5555

แผนที่ Agra Fort

Mehtab Bagh

กลายเป็นอีกหนึ่งจุดในการชมความงดงามของทัชมาฮาล พร้อมกับเป็นมุมถ่ายรูปคู่กับทัชมาฮาลแบบแปลกใหม่ใน IG โดยสวนสาธารณะแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับทัชมาฮาลเลยค่ะ หลายคนก็เลยนิยมมานั่งดูพระอาทิตย์ตก พร้อมกับถ่ายรูปทัชมาฮาลกับแสงสุดท้าย แต่เราไม่ได้ไปช่วงพระอาทิตย์ตก ไปถึงก่อนหน้านั้นนีสนึง คนก็เลยยังไม่เยอะเท่าไร ที่นี่เสียค่าเข้าด้วยนะคะ แต่ถูกมาก คนละ 25 รูปีเท่านั้น (อย่าลืมโชว์พาสปอร์ต) ส่วนวิธีการเดินทาง Uber ไม่ก็ริกชอว์เท่านั้น เพราะค่อนข้างอยู่ลึกเข้าไปในซอยจ้า

แผนที่ Agra Fort

สุดท้าย .. ตั้งแต่กลับมา มีแต่คนถามว่าถ้าจะให้ไปอีก ไปไหม อินเดีย เอาตรงๆ เราไม่มีคำตอบให้นะ 555 เพราะประสบการณ์และความทรงจำมันยังสดใหม่มาก มันยังมีมุมที่เรายังไม่ได้เล่าถึง อย่างเช่น โดนพวกคนขับออโต้ริกชอว์รุมทึ้ง โดนริกชอว์พยายามโกงด้วยการบอกว่าโรงแรมที่จะไปมันโดนเผาไปแล้ว (เดี๋ยวววว กูเพิ่งไปเช็คอินมา 555) ไหนจะเดินหลงทางเป็นกิโลบนถนนที่สกปรกยิ่งกว่าเมืองไทยหลายเท่า! .. แต่เราว่า อินเดีย คือชั้นเรียนอีกหนึ่งระดับสำหรับเรา ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อน เราคงไม่มาหรอก เพราะไม่ใช่จุดหมายที่เคยปักหมุดไว้ แต่พอเดินทางบ่อยขึ้น อคติในการเลือกที่รักมักที่ชังมันก็น้อยลง จากที่เคยกระหายสถานที่สวยๆ ก็กลายเป็นว่าแฮปปี้กับการได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากการเดินทางมากกว่า 

อินเดีย เปิดใจเราให้กว้างขึ้น ทำให้เรากระโดดข้าม Comfort Zone ของตัวเองได้สำเร็จ .. แล้วเธอล่ะ เคยยี๋หรือตั้งกำแพงปิดกั้นอะไรไว้บ้างมั้ย? บางที .. ถ้าลองเปิดใจรับอะไรใหม่ๆ ที่เคยบ่ายเบี่ยงดู เธออาจจะได้กะเทาะเปลือกคนเดิม แล้วเติมความคิดอ่านในมุมที่กว้างขึ้นจนกลายเป็นคนใหม่ก็ได้นะ การเดินทางมันเปลี่ยนคนได้จริงๆ นะเว้ย เชื่อเราดิ! ลองดูไปเที่ยวในที่ที่ไม่เคยคิดจะไปดูสักครั้ง อย่างน้อยก็มีเรื่องกลับมาเล่าให้เพื่อนฟัง .. เหมือนเราไง : )




Niichiiz *
Niichiiz *https://movearound-journey.com
IG : https://www.instagram.com/niichiiz13

Related Stories

Discover

รีวิว ซัวเถา (Shantou) กิน เที่ยว มู รับเฮงปีมังกร 3 วัน...

ยินดีกับนักท่องเที่ยวไทยทุกคนที่กำลังจะมีประเทศฟรีวีซ่าให้เที่ยวเพิ่มอีกหนึ่งประเทศแล้ววว นั่นก็คือ “ประเทศจีน” นั่นเอง โพสนี้ก็เลยจะขอพาไปเปิดม่านเมือง "ซัวเถา" บ้านเกิดของคนไทยเชื้อสายจีนในอดีตที่โล้สำเภาเดินทางแบบเสื่อผืนหมอนใบมาตั้งรกรากในประเทศไทย จะขอพาไป กิน เที่ยว มู ในเมืองซัวเถา และแต้จิ๋ว หนึ่งในที่เที่ยวเมืองจีนที่เหมาะสำหรับคนที่เริ่มต้นเที่ยวเมืองจีนด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกแบบเราที่สุด...

รีวิว Sea Season Pool Villas ที่พักสวยติดทะเลพัทยา

วันหยุดว่างๆ ทีไร เราล่ะชอบพาตัวเองไปพักผ่อนชิลๆ ที่พัทยามากจริงๆ อาจเพราะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปไม่ไกล ก็ได้นั่งมองทะเลสวยๆ แล้ว โพสนี้ก็เลยอยากมารีวิวที่พักติดทะเลพัทยาที่เพิ่งไปมาแล้วชอบมากอย่าง Sea Season Pool Villas Pattaya...

รีวิว เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) อัพเดทมุมถ่ายรูปชิค

นี่คือการมาเที่ยว “เซี่ยงไฮ้” ประเทศจีน เป็นครั้งแรกในชีวิตของเรา อยากจะบอกว่าเปิดมุมมองมากกก เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองไวบ์ดีกว่าที่คิด ไลฟ์สไตล์ของที่นี่ก็ชิลสุดอะไรสุด บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน มีมุมถ่ายรูปสวยๆ เยอะ ที่สำคัญคือเป็นประเทศจีนที่เที่ยวง่ายมากค่ะ มีรถไฟใต้ดินหลายสาย การเดินทางไม่ซับซ้อน คนจีนที่นี่ส่วนใหญ่สื่อสารภาษาอังกฤษง่ายๆ...

แผนเที่ยวฟุกุอิ (Fukui) ดื่มด่ำธรรมชาติ ย่ำรอยประวัติศาสตร์ ในเมืองสุดอันซีนของญี่ปุ่น

แผนเที่ยวฟุกุอิ เล่มนี้ จะพาคุณนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปสูดกลิ่นอายอดีต ย่ำรอยประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหาของแดนปลาดิบ พร้อมดื่มด่ำกับธรรมชาติให้ฉ่ำปอด ในจังหวัดสุดอันซีนที่เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวทรงเสน่ห์อย่าง ‘ฟุกุอิ’ ฟุกุอิ เป็นจังหวัดที่มีเสน่ห์หลายหลากซุกซ่อนไว้อย่างคาดไม่ถึง ที่นี่เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการวิจัยฟอสซิลไดโนเสาร์ ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง ‘Fukui Prefectural Dinosaur Museum’...

รีวิว ZHotel The Somekh Building โรงแรมสวยใน “เซี่ยงไฮ้”

ใครที่กำลังแพลนไปเที่ยวเซี่ยงไฮ้ แล้วอยากหาที่พักสวยๆ ได้ไวบ์ยุโรป มาที่นี่เลยค่ะ ZHotel The Somekh Building มีมุมระเบียงที่ถ่ายรูปสวยมองเห็น "หอไข่มุก" ที่เป็นแลนด์มาร์คด้วย ที่นี่ตั้งอยู่ภายในย่าน The Bund...

วิธีกรอกใบตม. ขาเข้าประเทศจีน (China Arrival Card)

อ้าแขนเตรียมต้อนรับ 'ประเทศฟรีวีซ่า' น้องใหม่ล่าสุดอย่าง 'ประเทศจีน' ที่กำลังจะเริ่มยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวไทยในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป ด้วยการรีวิวขั้นตอนการผ่าน ตม. ซึ่งเป็นด่านแรกของการเดินทางท่องเที่ยวเมืองจีนด้วยตัวเอง หลายคนที่เพิ่งเคยไปเมืองจีนครั้งแรก อาจจะยังแอบกังวลว่าพอฟรีวีซ่าแล้วยังไงนะ?...

Popular Categories

Comments